พุทธเทค

วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ทฤษฎีกำเนิดมนุษย์

ทฤษฎีกำเนิดมนุษย์ภาคอัคคัญญสูตร

มีคำถามมากมายว่า มนุษย์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และมีวิวัฒนาการมาอย่างไร ความรู้สายวิทยาศาสตร์ ให้ภาพความเป็นมนุษย์ในฐานะสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีวิวัฒนาการมาจากจุดเริ่มต้น เดียวกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ย้อนหลังไปเมื่อประมาณ 4,600 ล้านปีที่ผ่านมา โลกกำเนิดขึ้น โดยไม่มีสิ่งมีชีวิตใดๆ ปรากฏอยู่จนกระทั่ง เมื่อ 3,500 ล้านปี จึงเกิดสิ่งมีชีวิตที่เป็นสัตว์เซลล์เดียวเกิดขึ้นในโลกเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิตทั้งมวลรวมทั้งมนุษย์ด้วย สิ่งมีชีวิตนั้นพัฒนาขึ้นตามลำดับ โดยเริ่มวิวัฒน์เป็นสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังเป็นปลา เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เป็นสัตว์เลื้อยคลาน จนถึงเมื่อประมาณ 200 ล้านปีที่ผ่านมา จึงเกิดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขึ้น และเมื่อประมาณ 65 ล้านปีมานี้ จึงได้เกิดสัตว์ลำดับไพรเมต (Primate) ขึ้นเป็นครั้งแรก ไพรเมตที่อยู่ในสายของมนุษย์ ได้แยกตัวจากเอปเมื่อราว 5 ล้านปีมาแล้ว ลักษณะรูปร่างของมนุษย์วิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงมาตลอด แบ่งออกได้เป็น 2 สกุล คือ สกุล ออสตราโลพิเธคคัส และ สกุลโฮโม มี 3 ชนิด คือ โฮโม แฮบิลิส โฮโม อีเรคตัส โฮโม เซเปียนส์ มนุษย์ปัจจุบันนี้ ถูกเรียกว่า โฮโม เซเปียนส์ มนุษย์สืบทอดมาจากบรรพบุรุษที่เป็นสัตว์เซลเดียว มีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างช้าๆ หรือที่เรียกว่า มีวิวัฒนาการมาตามลำดับจนมีลักษณะทางกายภาพเหมือนปัจจุบัน กระบวนการวิวัฒนาการที่ผ่านมาเป็นไปอย่างซับซ้อนและใช้เวลายาวนาน
แต่ทฤษฎีกำเนิดมนุษย์ภาคอัคคัญญสูตร กลับมีความเห็นที่สวนทางออกไปเกี่ยวกับการวิวัฒนาการของมนุษย์ โดยมีวิวัฒนาการร่วมกับวิวัฒนาการของโลกหรือเอกภพ ทฤษฎีนี้สนับสนุนความเชื่อที่ว่า มนุษย์พัฒนากลับรูปมาจากพรหมพวกหนึ่ง ดังนั้น มนุษย์จึงมาจากสัตว์ชั้นสูง ไม่ใช่สัตว์ชั้นต่ำ แต่เป็นการพัฒนากลับรูปถอยหลัง ไม่ใช่การพัฒนาไปสู่ความก้าวหน้าแบบความรู้สายวิทยาศาสตร์ โดยมีลำดับวิวัฒนาการดังนี้
1. อาภัสสรพรหม จุติลงมาเกิดในโลก หรือตามความเข้าใจก็คือเอกภพนี้ ในระยะแรกเริ่ม ที่ยังมีน้ำท่วมทั่วอวกาศ (เข้าใจว่าเอกภพคงเย็นตัวลง หลังการทำลายล้างของไฟบรรลัยกัลป์) สัตว์พวกนี้ได้กลับมาสู่เอกภพนี้อีกครั้ง ด้วยสภาพร่างกายที่ยังเป็นทิพย์ มีแสงสว่างในตัวเอง มีปีติเป็นอาหาร สัญจรไปมาอยู่ในอวกาศ เช่นเดียวกับสมัยที่อยู่ในชั้นอาภัสสรพรหม (เข้าใจว่า อยู่สุดขอบฟ้าของเอกภพ)
2. การเกิดง้วนดิน ง้วนดินมีลักษณะเหมือนนมสดที่เคี่ยวให้งวด มีกลิ่น รส สี คล้ายเนยใสมีรสเหมือนน้ำผึ้ง ลอยอยู่ในน้ำในอวกาศ สัตว์พวกนี้จึงลองชิมดูก็เกิดชอบใจ ชิมมากเข้า ก็เลยทำให้แสงสว่างในตัวหมดลง การเกิดขึ้นของง้วนดินน่าจะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับจุดกำเนิดและวิวัฒนาการของกาแล็กซี กาแล็กซี เป็นหนึ่งในความลึกลับของจักรวาลที่นักดาราศาสตร์พยายามไขความลึกลับนี้มานานหลายสิบปี เช่นเดียวกับ ความลึกลับของ สสารมืด (Dark Matter) สสารที่มองไม่เห็นและพลังงานมืด (Dark Energy) พลังงานลึกลับ ซึ่งต่อต้านแรงโน้มถ่วงและผลักจักรวาลให้ขยายตัวด้วยอัตราเร่ง ในทุกวันนี้ ในช่วงต้นของทศวรรษ ที่ 1980 นักจักรวาลวิทยาเริ่มนำเราใกล้ความลับนี้เมื่ออธิบายปรากฏการณ์ภายหลังมหาบรรลัยกัลป์ (big- bang) เมื่อ 13.7 พันล้านปีก่อนว่า เมื่อจักรวาลอยู่ในวัยทารกมันจะขยายตัวอย่างรวดเร็วซึ่งเรียกกันว่าการพองตัว (Inflation) การพองตัวนี้จะกระจายความหนาแน่นไปในทุกทิศทาง ความรู้นี้ทำให้นักดาราศาสตร์เริ่มมองเห็นว่า จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร แต่ก็ยังไม่สามารถอธิบายการกำเนิดกาแล็กซีได้ ต่อมาเมื่อมีการค้นพบ สสารมืด (Dark Matter) ทฤษฎีกำเนิดกาแล็กซีจึงอธิบายว่า ก่อนการพองตัวของจักรวาล ความหนาแน่นในจักรวาลมีลักษณะราบเรียบ แต่เมื่อมันพองตัวก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นของอาณาบริเวณในจักรวาลอย่างรุนแรง กล่าวคือเปลี่ยนจากความหนาแน่นที่ราบเรียบและสม่ำเสมอคล้ายทะเลสาบที่ไร้คลื่นลม กลายมาเป็นความหนาแน่นที่ไม่ราบเรียบและกระเพื่อมเหมือนคลื่นในทะเลขณะกำลังเกิดพายุ ในขณะเดียวกันสสารมืดก็จะทำให้เกิดการกระเพื่อมมากขึ้นเพราะมันจะดึงดูดสสารปกติให้มารวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนเหมือนหยดน้ำบนใยแมงมุม ทำให้บริเวณเหล่านี้กลายเป็นบริเวณที่มีความหนาแน่นสูงมากและมีแรงโน้มถ่วงมากกว่าบริเวณที่อยู่รายรอบ แรงโน้มถ่วงจะดึงสสารปกติให้เข้ามารวมกันมากขึ้นๆ จนกระทั่งกลายเป็นแหล่ง “วัตถุดิบ” ที่จะให้กำเนิดกาแล็กซีในที่สุด ทฤษฎีนี้มีความเป็นไปได้จากหลักฐานการค้นพบรังสีฉากหลังของจักรวาล (Cosmic Microwave Background-CMB) ซึ่งยังคงเห็นได้อยู่ทุกวันนี้ นอกจากนั้นการค้นพบว่า ในกาแล็กซีมีปริมาณของสสารมืดมากกว่าสสารปกติราว 10 เท่าก็เป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่สนับสนุนให้ทฤษฎีนี้มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น แล้วคำถามว่า ง้วนดิน น่าจะเป็นอะไร มันน่าจะเป็นกลุ่มสสารปกติ มีลักษณะเป็นกลุ่มก๊าซควบแน่นที่จับตัวเป็นกลุ่มก้อนกระจายตัวอยู่ในอวกาศก่อนการเกิดกาแล็กซี และสิ่งที่เรียกว่า สสารมืด (Dark Matter) ก็อาจจะเป็นผลที่เกิดขึ้นจาก อาภัสสรพรหม ที่แอบชิมง้วนดินเข้าไปแล้ว อาภัสสรพรหมหรือไม่ก็กลุ่มภูมิพรหม เทวดาอื่นๆ อาจจะเป็นพลังงานลึกลับ ที่เรียกว่า พลังงานมืด (Dark Energy) ก็เป็นได้
3. การเกิดดาราจักรและดวงดาว เมื่อแสงสว่างในตัวของอาภัสสรพรหมหายไป ดาราจักรหรือกาแล็กซีจึงเกิดขึ้น ก่อเกิดดวงดาวต่างๆ และดาวฤกษ์เกิดขึ้นมากมาย มีพระจันทร์ พระอาทิตย์ มีคืนวัน มีดาวนักษัตร มีเดือน มีกึ่งเดือน มีฤดู และปี ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการกำเนิดขึ้นของดาราจักรหรือกาแล็กซี ซึ่งมีดาวฤกษ์เป็นศูนย์กลางย่อยๆ ของดาราจักร เช่น ระบบสุริยจักรวาล
4. การเกิดมนุษย์ เมื่ออาภัสสรพรหมกินง้วนดินเป็นอาหาร กายก็หยาบกระด้าง ความทรามของผิวพรรณก็ปรากฏ พวกมีผิวพรรณดี ก็ดูหมิ่นพวกมีผิวพรรณทราม เพราะดูหมิ่นผู้อื่นเรื่องผิวพรรณ เพราะความถือตัวและดูหมิ่นผู้อื่น ง้วนดินก็หายไป
5. การเกิดกระบิดิน กระบิดินคล้ายกับเห็ด สมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น และรส ขึ้นแทนใช้เป็นอาหารได้ แต่เมื่อกินเข้าไปแล้วร่างกายก็หยาบกระด้างยิ่งขึ้น ความทรามของผิวพรรณก็ปรากฏชัดขึ้น เกิดการดูหมิ่นถือตัว เพราะเหตุผิวพรรณนั้นมากขึ้น กระบิดินก็หายไป
6. การเกิดเครือดิน เครือดินคล้ายผลมะพร้าวสมบูรณ์ด้วย สี กลิ่น รสขึ้นแทน ใช้กินเป็นอาหารได้ ความหยาบกระด้างของกาย และความทรามของผิวพรรณก็ปรากฏมากขึ้น เกิดการดูหมิ่นถือตัว เพราะเหตุผิวพรรณนั้นมากขึ้น
7. การเกิดข้าวสาลีไม่มีเปลือก มีกลิ่นหอมมีเมล็ดเป็นข้าวสุกขึ้นแทน ใช้เป็นอาหารได้ ข้าวนี้เก็บเย็น เช้าก็สุกแทนที่ขึ้นมาอีก เก็บเช้า เย็นก็สุกแทนที่ขึ้นมาอีก ไม่มีพร่อง ความหยาบกระด้างของกาย ความทรามของผิวพรรณก็ปรากฏมากขึ้น
จากหลักฐานการศึกษาของนักมานุษยวิทยา พบว่า สังคมเริ่มแรกของมนุษย์เริ่มขึ้นเมื่อประมาณหนึ่งล้านกว่าปี ในช่วงนี้ นับเป็นสังคมที่ดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์และหาของป่า (hunting gathering) ซึ่งอาหารส่วนใหญ่อาจจะเป็นพวกผลไม้ ใบไม้ ธัญพืช และรากไม้ต่างๆ ที่ขึ้นอยู่ตามป่ามาเป็นอาหาร เป็นสังคมขนาดเล็ก เริ่มมีการจับคู่รวมกลุ่มกันเป็นครอบครัวและชุมชนหมู่บ้าน
8. การแบ่งแยกเป็นเพศ เมื่ออาภัสสรพรหมกลายร่างเป็นกายมนุษย์อย่างสมบูรณ์ จึงปรากฏเพศเป็นเพศหญิงและเพศชาย เมื่อต่างเพศเพ่งกันและกันก็เกิดความกำหนัดเร่าร้อน เกิดเพศสัมพันธ์กันขึ้น การร่วมเพศเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ จึงพากันเอาสิ่งของขว้างปา เพราะในสมัยนั้นถือว่าเป็นอธรรม เมื่ออยากเสพต้องไปกระทำนอกชุมชน
9. การสร้างบ้านเรือน มนุษย์เริ่มมีการปกปิดซ่อนเร้นร่างกายด้วยเครื่องนุ่งห่ม และสร้างบ้านเรือนเพื่ออยู่อาศัยและเพื่อการสมสู่กันระหว่างหญิงชาย
10. การสะสมอาหาร ต่อมา มีผู้เกียจคร้านที่จะนำข้าวสาลีมาตอนเช้าเพื่ออาหารเช้า นำมาตอนเย็นเพื่ออาหารเย็น จึงนำมาครั้งเดียวให้พอทั้งเช้าทั้งเย็น และเมื่อนำมาครั้งเดียวให้พอสำหรับ 2 วัน 4 วัน 8 วัน ข้าวสาลีจึงเกิดมีเปลือกห่อหุ้มข้าวสาลี ที่เกี่ยวแล้วก็ไม่งอกขึ้นแทน มีการขาดแคลนเป็นตอนๆ ตั้งแต่นั้นมา ข้าวสาลีจึงมีเฉพาะเป็นบางแห่ง
11. การแบ่งเขตแดนพื้นที่ทำกิน สัตว์มนุษย์เหล่านั้นจึงประชุมกันปรารภความเสื่อมลงโดยลำดับ แล้วมีการแบ่งข้าวสาลีและปักปันเขตแดนกัน
ในช่วงนี้ สังคมของมนุษย์ได้ถูกพัฒนาขึ้นตามลำดับ มนุษย์รู้จักการทำเกษตรกรม เป็นวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมที่สำคัญมากขั้นตอนหนึ่ง มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์ในกาลต่อมา มีนักวิชาเรียกยุคนี้ว่า การปฏิวัติเกษตรกรรมครั้งที่ 1 (the first Agricultural Revolution) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณหนึ่งหมื่นปีมานี่เอง เป็นสังคมที่มีขนาดใหญ่กว่าสังคมแบบแรกเล็กน้อย อาจเรียกว่าเป็นสังคมชนเผ่า (tribal society) อย่างเต็มที่ และที่สำคัญกำลังจะกลายเป็นสังคมที่หัวหน้าและองค์กรทางการเมืองการปกครองอย่างชัดเจนในยุคต่อมา
12. การลงโทษและการทำร้ายกัน ต่อมาบางคนรักษาส่วนตน ขโมยของคนอื่นมาบริโภค เมื่อถูกจับได้ ก็เพียงแต่สั่งสอนกันไม่ให้ทำอีก เขาก็รับคำ ต่อมาขโมยอีก ถูกจับได้ถึงครั้งที่ 3 ก็สั่งสอนเช่นเดิมอีก แต่บางคนก็ลงโทษ ตบด้วยมือ ขว้างด้วยก้อนดิน ตีด้วยไม้
13. ชนชั้นผู้นำทางการเมืองและการตั้งรัฐ ต่อมา มนุษย์ระดับผู้ใหญ่จึงประชุมกันปรารภว่า การลักทรัพย์ การติเตียน การพูดปด การจับท่อนไม้เกิดขึ้นแล้ว ควรจะแต่งตั้งสัตว์ผู้หนึ่งขึ้นให้ทำหน้าที่ติผู้ที่ควรติ ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ โดยพวกที่เหลือจะแบ่งส่วนข้าวสาลีให้ จึงเลือกคนที่งดงาม น่าเลื่อมใส น่าเกรงขาม แต่งตั้งเป็นหัวหน้า เพื่อปกครองคนติและขับไล่คนที่ทำผิด คำว่า มหาชนสมมติ (ผู้ที่มหาชนแต่งตั้ง) กษัตริย์ (ผู้ใหญ่ยิ่งแห่งเขต) ราชา (ยังชนอื่นให้สุขใจโดยธรรม) กษัตริย์จึงเกิดขึ้น ซึ่งมาจากมนุษย์พวกเดียวกัน เกิดขึ้นโดยธรรม มิใช่โดยอธรรม ธรรมะจึงเป็นสิ่งประเสริฐสุดในหมู่ชน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
14. ชนชั้นผู้นำทางศาสนาและความเชื่อ ต่อมา มีมนุษย์บางกลุ่มออกบวชมุ่งลอยธรรมที่ชั่ว ที่เป็นอกุศล จึงมีนามว่า พราหมณ์ (ผู้ลอยบาป) สร้างกุฎีหญ้าขึ้น เพ่งในกุฎีนั้น จึงมีนามว่า ฌายกะ (ผู้เพ่ง) มนุษย์บางคนไปอยู่รอบหมู่บ้านรอบนิคม แต่งคัมภีร์ จึงถูกเรียกว่า อัชฌายกะ (ผู้ไม่เพ่ง) การทรงจำ การสอน การบอกมนต์ เกิดจากการไม่เพ่ง เดิมมีความหมายเลว แต่บัดนี้มีความหมายทางดี
15. ชนชั้นกลางหรือกลุ่มพ่อค้า ยังมีมนุษย์บางกลุ่ม ถือการเสพเมถุนธรรม ประกอบการงานเป็นแผนกๆ จึงมีชื่อว่า เวสสะ (ประกอบการค้า)
16. ชนชั้นแรงงาน ยังมีมนุษย์บางกลุ่ม ประกอบการล่าสัตว์ อาศัยการล่าสัตว์เลี้ยงชีพ จึงมีชื่อว่าศูทร
17. กลุ่มนักบวช ต่อมา มีกษัตริย์ผู้เบื่อหน่ายหน้าที่ปกครอง จึงออกไปบวชเป็นบรรพชิต เรียกตัวเองว่า สมณะ คำว่า สมณะ จึงเกิดขึ้น แม้พวกพราหมณ์ พวกแพศย์ และพวกศูทรที่เบื่อหน่ายหน้าที่ของตนๆ ออกบวชเป็นบรรพชิตก็เรียกว่า สมณะ เหมือนกัน
และในที่สุด สังคมมนุษย์ก็พัฒนาขึ้นสู่วัฒนธรรมเกษตรกรรมอย่างเต็มรูปแบบ มีการใช้เทคโนโลยีในการผลิตเพื่อการเกษตร มีกลุ่มอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างชุมชนหมู่บ้าน การเกิดขึ้นของกลุ่มพ่อค้าหรือชนชั้นกลาง ซึ่งจะกลายเป็นสังคมแบบนครรัฐ (city-state) ที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต และที่สำคัญ คือ การปรากฏตัวความเชื่อทางศาสนาและอำนาจเหนือธรรมชาติ (supernatural power) แสดงออกโดยผ่านพิธีกรรมต่างๆ (rites or rituals) ของกลุ่มนักบวช และการเกณฑ์แรงงาน (forced labour) ทำให้เกิดกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งนี่ แสดงให้เห็นถึง สังคมในยุคพุทธกาล เป็นสภาพสังคมมนุษย์สุดท้ายที่ถูกบันทึกไว้ในคัมภีร์

อย่างไรก็ตาม พระพุทธเจ้าไม่ทรงยินดีนักที่จะไขความลับของจักรวาลให้กับมนุษย์บางคนที่ยังยึดติดอยู่กับความรู้ทางทฤษฎี ปรากฏความใน ปาฏิกสูตร เจ้าลิจฉวีองค์หนึ่งนามว่า สุนักขัตตะ เข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ด้วยคิดว่า จักทูลขอให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ และยังหวังที่จะให้พระพุทธเจ้าทรงประกาศทฤษฎีว่าด้วยกำเนิดของโลก และถ้าไม่ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์และตรัสเรื่องทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก ก็จะลาสิกขาออกไป แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ และตรัสเรื่องทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก ทำให้เจ้าลิจฉวีนามว่า สุนักขัตตะ ขุ่นเคืองใจและลาสิกขาออกไป ต่อมา เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ที่หมู่บ้านของชาวมัลละชื่อ อนุปิยะ แคว้นมัลละ ในเวลาเช้าได้เสด็จเข้าไปหมู่บ้านเพื่อบิณฑบาต จึงเสด็จแวะเข้าไปหาภัคควโคตรปริพาชกถึงอารามของเขา ทรงได้รับการปฏิสันถารเป็นอย่างดี และเมื่อภัคควโคตรปริพาชกกราบทูลถามถึงเรื่องเจ้าลิจฉวี นามว่า สุนักขัตตะ ก็ได้ทรงเล่าให้ฟังถึงทฤษฎีต้นกำเนิดของจักรวาล โลก และมนุษย์เช่นเดียวกับที่กล่าวไว้ในอัคคัญญสูตรนี้