พุทธเทค

วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ทฤษฎีการเกิด-ดับ

พุทธวิจัย
ขันธ์ 5: ความจริงกับการค้นหาความจริง ตอน ทฤษฎีการเกิด-ดับ

วิวาทะระหว่างนีลส์ โบร์ กับ ไอน์สไตน์
นีลส์ โบร์ ถาม “ถ้าโลกนี้ไม่มีมนุษย์เกิดขึ้นมาเลย โลกและจักรวาลจะเป็นอย่างที่เราเห็นหรือไม่”
ไอน์สไตน์ตอบ “ถ้าไม่มีมนุษย์เกิดมาเลย ดวงจันทร์มันก็ยังอยู่ของมันตรงนั้น ภูเขา น้ำตก ทุกสิ่งทุกอย่างของมันก็มีอยู่แล้ว”
โบร์ ค้านว่า “ถ้าไม่มีมนุษย์เกิดขึ้นมา โลกและจักรวาลอย่างที่เราเห็นก็จะไม่มี ทั้งหมดนี้เกิดจากการสร้างสรรค์ของจิตมนุษย์ แล้วไปยึดถือว่ามันมีอยู่ เป็นอยู่จริง”
ไอน์สไตน์งงกับคำตอบ เกิดการถกเถียงกันอย่างยาวนาน ..............................
อีกครั้งหนึ่งเขาถกเถียงอย่างรุนแรงกับนีลส์ โบร์ นีลส์ โบร์ บอกว่า “ต้นไม้ที่ล้มในป่าลึกไม่มีเสียง เพราะในป่าลึกไม่มีคน”
ไอน์สไตน์ กลับตอบอย่างโมโหว่า “ต้นไม้ล้มมันก็ต้องมีเสียงไม่ว่าจะมีคนไปฟังมันหรือไม่ก็ตาม”
...หลังจากเถียงกันอยู่นาน โบร์ได้พาไอน์สไตน์ไปที่หน้าห้อง เขาโยนหนังสือเล่มหนึ่งเข้าไปข้างในแล้วปิดประตู "มีหนังสืออยู่ในห้องไหม?" โบร์ถาม
"มี" ไอน์สไตน์ตอบ
"รู้ได้ยังไงว่ามี ลูกชายผมอาจจะเปิดประตูห้องอีกด้านหนึ่งแล้วหยิบมันออกไปแล้วก็ได้" โบร์ย้อน
"ผมจะพิสูจน์ให้ดูว่ามันมี" ไอน์สไตน์กล่าวก่อนเดินไปเปิดประตูห้องออก หนังสือยังวางอยู่ที่เดิม
"เห็นไหมล่ะ ไม่ว่าเราจะมองเห็นมันหรือไม่ มันก็ยังวางอยู่ที่เดิมมาตั้งแต่ที่คุณโยนเข้าไป"
"แต่นั่นเป็นการยืนยันหลังจากที่คุณเปิดประตูออกแล้วเห็นมันมิใช่หรือ?" โบร์กล่าว
ไอน์สไตน์เดินเดือดดาลออกไปจากห้องพลางกล่าวว่า "ผมจะหาทางล้มทฤษฎีของคุณให้ได้!"
ครั้งหนึ่ง ไอน์สไตน์พูดว่า “พระเจ้าไม่เล่นลูกเต๋าหรอก คุณพยาบาล!”
ต่อมา สตีเฟน ฮ็อคกิ้ง บอกว่า “พระเจ้าไม่เพียงแต่ทรงเล่นลูกเต๋าเท่านั้น บางครั้งพระองค์ยังทรงทอดมันไปยังที่ที่ไม่มีคนเห็นอีกด้วย”
นิทานเซน เรื่อง จิตที่เคลื่อนไหว
ชายสองคนกำลังยืนถกเถียงกันในเรื่องการสะบัดไหวของผืนธงท่ามกลางกระแสลม
“เป็นลมต่างหาก ที่เคลื่อนไหว” ชายคนหนึ่งกล่าว
“ไม่ใช่หรอก เป็นผืนธงต่างหาก ที่เคลื่อนไหว”
อาจารย์เซ็นท่านหนึ่ง ซึ่งบังเอิญเดินผ่านชายที่กำลังถกเถียงกันอยู่นั้นไปพอดี เมื่อได้ยินเรื่องที่ชายทั้งสองกำลังถกเถียงกันอยู่ก็ขัดขึ้นว่า
“ไม่ใช่ทั้ง ลม และ ทั้ง ผืนธง หรอก ที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ ท่านอาจารย์พูด อันที่จริง เป็น จิต ของท่านต่างหากล่ะ ที่เคลื่อนไหว”

พระพุทธศาสนากล่าวว่า โลกและมนุษย์ประกอบด้วยขันธ์ 5 (ขันธ์ แปลว่า กอง หมวดหมู่ ส่วน ชนิด หรือประเภท) มี 5 ประเภท คือ
1. รูป คือ สิ่งที่ปรากฏให้เห็นหรือสัมผัสได้ เป็นวัตถุหรืออะไรก็ตามที่มีคุณลักษณะรวมเป็นกลุ่มก้อน ในทางวิทยาศาสตร์ รูปคือพลังงานหรือสสาร ที่ปรากฏเป็นอนุภาคหรือคลื่นก็ได้ มันคือเป็นสิ่งที่ถูกสังเกต รูปที่แท้จริงไม่สามารถบอกได้ว่ามีอยู่ในลักษณะใด หรือไม่มีอยู่ในลักษณะใด ดังที่ นีลส์ โบร์ บอกว่า ถ้าโลกนี้ไม่มีมนุษย์ โลกและจักรวาลจะเป็นอย่างที่มนุษย์เห็นหรือไม่ เพราะมนุษย์เห็นโลกและจักรวาลตามอาการของตนเอง เหมือนไส้เดือนที่ไม่มีตา ชอนไชอยู่ในดิน ก็จะเห็นโลกตามอาการของตน ถ้ามันพูดได้ แล้วเราถามเรื่องโลกกับมัน มันก็จะบอกเราว่า โลกไม่มีสี มีลักษณะแข็งบ้าง อ่อนบ้าง บางที่เปียกชื้นด้วย เราจะบอกกับไส้เดือนรู้ไม่หมดก็ไม่ได้ เพราะมันมีอาการรับรู้อยู่แค่นั้น เหมือนตาบอดคลำช้าง ปลาอยู่ในน้ำ
เพราะฉะนั้น โลกและจักรวาลที่แท้จริงเป็นอย่างไร เกินวิสัยของมนุษย์ที่จะรับรู้ได้อย่างแท้จริง โลกและจักรวาลอาจไม่ได้เป็นอย่างที่ตามนุษย์เห็น หรือแท้จริง โลกและจักรวาลไม่มีอยู่จริง หรือมีอยู่อย่างไม่จริง เหมือนการเห็นภาพลวงตา อย่างพยับแดดเห็นไกลๆ ก็ว่ามี เดินเข้าไปใกล้ๆ ก็ไม่มี หรือการเกิดขึ้นของฟองน้ำ ที่เกิดจากการตกกระทบกันของน้ำ เราเห็นเป็นกลุ่มก้อน แต่ความจริงมันเป็น ฟองน้ำโป่งพองขึ้น เกิดขึ้นแล้วก็แตกไปอย่างรวดเร็ว รูปแท้จริงเป็นลักษณะที่พึ่งพิงอาศัยกันของเหตุปัจจัยหลายตัว เรียกว่า เกิดขึ้นและดับไปตามกฎอิทัปปปัจจยตา หรือปฏิจจสมุปบาท คือ สิ่งนี้เกิด สิ่งนี้ดับ เกิด-ดับ เกิด-ดับ ต่อเนื่องกันไปอย่างรวดเร็ว
ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะด้านฟิสิกส์ควอนตัม กล่าวถึง ความไม่แน่นอนของปรากการณ์ในระดับควอนตัม โดยเฉพาะการตรวจวัด โดยเปรียบเทียบเหมือนกับแมวในกล่องดำ ที่เราไม่สามารถรู้ได้ว่า แมวในกล่องดำ เป็นหรือตาย จนกว่าจะเปิดดู จนต้องใช้ทฤษฎีความน่าจะเป็นมาอธิบาย หรือพยายามสร้างทฤษฎีใหม่อย่างทฤษฎีสตริงในมาใช้อธิบาย เพื่อไปค้นหาตามสมมติฐานที่เชื่อว่า มีอะไรบางอย่างอยู่จริง เช่น หาความยาวพลังค์ คือ สิ่งที่เล็กที่สุดที่เชื่อว่ามีแต่ยังไม่เจอ โดยพยายามหาสิ่งที่เชื่อว่า มี กับ ไม่มี (แทนค่าด้วยตัวเลข 0 กับ 1)
ที่แท้ พระพุทธศาสนากล่าวว่า นามและรูปมีการเกิด-ดับอยู่ตลอดเวลา ความเร็วของการเกิด-ดับของรูปหยาบ เช่น โลกและจักรวาล ก็เห็นการเกิด-ดับช้า เป็นหลายล้านปี ส่วนที่เล็กที่สุด อย่างอนุภาคเล็กๆ ก็เกิด-ดับไว นับเป็นเสี้ยววินาที ส่วนจิตของมนุษย์เกิด-ดับไวมาก ชั่วลัดนิ้วมือเดียว เกิด-ดับ เป็นแสนโกฏิครั้ง
ความจริงเหตุที่เราเห็นสสารเป็นอนุภาค ก็เพราะเราเห็นภาพชั่วขณะหนึ่งในระหว่างของการเกิดดับ แต่ที่เห็นเป็นคลื่นเพราะเห็นเป็นช่วงยาวขณะเกิด-ดับ เหมือนกับการถ่ายภาพดวงไฟที่เปิดขึ้นแล้วดับลง ถ้าเรานำฟิล์มมากรอภาพช้าๆ เราก็จะเห็นว่า ดวงไฟค่อยๆ สว่างขึ้นแล้วก็หรี่ลง จากภาพจางขึ้นไปหาชัด จากภาพชัดไปหาจางลง เป็นอย่างนี้เรื่อยๆ ไป ดังนั้น เมื่อเราตรวจหาตำแหน่งของอนุภาค เราจึงไม่รู้ว่าเส้นทางเดินของอนุภาคเป็นอย่างไร เมื่อตรวจเส้นทางเดิน เราก็ไม่รู้ตำแหน่งที่แท้จริงของอนุภาคอยู่ตรงไหน แมวในกล่องดำ จึงมีลักษณะของความมีอยู่และไม่มีอยู่ในสถานะเดียวกัน ความรู้ทางฟิสิกส์ควอนตัมจึงบอกได้เพียงการประมาณการณ์เป็นเปอร์เซนต์ควอไทม์เท่านั้น
แท้ที่จริง เราควรใช้หลักการเกิด-ดับในการอธิบายปรากฏการณ์นี้ โดยค้นหาว่า สิ่งที่สังเกตนั้นเกิด-ดับในอัตราเท่าไหร่ ในเสี้ยววินาที เมื่อเรารู้ค่าที่แท้จริงแล้ว เราก็สามารถสร้างสิ่งนั้นใหม่ได้จากการคืนค่าการเกิด-ดับนั้น เหมือนกับการปรับคลื่นรับให้ตรงกัน เราจะรู้ว่าแมวในกล่องดำ มีอยู่ คือ เกิดในช่วงไหน หรือ ตายไปแล้ว คือดับในช่วงไหน ซึ่งในระหว่างเกิดกับดับนี้ คือช่วงที่แมวมีชีวิตอยู่ในสภาพกึ่งเป็นกึ่งตาย ตอนนี้ในระดับสสารที่เล็กที่สุดของร่างกายมนุษย์ ก็มีสภาพอย่างนั้นเหมือนกัน คือ เกิด-ดับ เกิด-ดับ อยู่ตลอดเวลา ถ้ามีบางสิ่งที่ผิดไปจากเหตุปัจจัยของการเกิดดับของตัวเราพุ่งเข้าใส่ เราอาจจะหายวับไปกับตา และไม่เห็นซากเลยก็ได้ เราอาจสร้างเครื่องมือวาร์ปสำเร็จก็ได้ ถ้าเรารู้ว่ามนุษย์คนไหนมีค่าเกิด-ดับเท่าไหร่ หรือไม่ก็เอาไปทำโทรจิตส่งข้อมูลก็ท่าจะดี– ก็ว่าไป
ในการปฏิบัติสมาธิภาวนาทางพระพุทธศาสนา จะสอนให้ผู้ปฏิบัติค้นหาปัจจุบันขณะก่อนว่า ขณะจิตที่เป็นปัจจุบันอยู่ตรงไหน เมื่อค้นหาได้แล้วจะพบกับภาวะของการเกิด-ดับของจิต ภาวะการเกิด-ดับของจิตจะแสดงให้เห็นถึงกฎไตรลักษณ์ คือ รู้ว่าสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่ง คือ สังขารทั้งหลาย อันประกอบเป็นโลกและจักรวาล หรือแม้แต่ตัวจิตมนุษย์เอง มีสภาพเป็นอนิจจัง คือ ไม่เที่ยงแท้ มีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวตลอดเวลา คือ มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่หน่อยหนึ่ง แล้วก็ดับไป สภาวะเช่นนี้เรียกว่า ทุกข์ คือสังขารทั้งหลายพร้อมจะแตกสลายหรือเปลี่ยนไปตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย คือ จากสสารจะเปลี่ยนเป็นพลังงานก็ได้ จากพลังงานจะเปลี่ยนเป็นสสารก็ได้ หรือสสารหนึ่งเปลี่ยนเป็นสสารหนึ่ง พลังงานหนึ่งจะเปลี่ยนเป็นพลังงานหนึ่ง ถ้ารู้เหตุปัจจัยที่แท้จริง เป็นที่มาของสูตรอันโด่งดังของไอน์สไตน์ เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะสภาวะทั้งหมดทั้งมวลนี้ ตั้งอยู่ภายใต้กฎอนัตตา คือ ความไม่มีตัวมีตนที่แท้จริง เราจะไม่เจออนุภาคอะไรอีก ถึงเจออีก มันก็จะมีสภาวะเกิด-ดับอย่างนี้อีก แต่จะเกิด-ดับในอัตราเร็วเท่าไหร่ อาจเกินสติปัญญาของมนุษย์ที่จะรับรู้ได้ และการเกิดขึ้นของมัน อาศัยเหตุปัจจัยหรือองค์ประกอบอื่นๆ เกิดขึ้น เหตุปัจจัยหรือองค์ประกอบนั้นๆ ก็มีเหตุปัจจัยหรือองค์ประกอบอื่นๆ ทำให้เกิดขึ้นอีกแบบอิงอาศัยกัน ดังกลอนไฮกุว่า
หินนี้มีสีเขียวด้วยตะไคร่
ตะไคร่มีสีเขียวด้วยมีหินให้เกาะ
ตะไคร่มิได้มีสีเขียว
หินก็มิได้มีสีเขียว
เราจึงไม่สามารถหาแก่นสาระของสรรพสิ่งได้ แม้แต่ตัวจิตมนุษย์เองก็ไม่พ้นจากกฎไตรลักษณ์เช่นเดียวกัน มีการเกิด-ดับอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง เหมือนการระเบิดของเครื่องยนต์ ทำให้รถยนต์แล่นไป เหมือนการกระพริบถี่ๆ ของกระแสไฟในหลอดนีออน ทำให้เกิดแสงสว่างขึ้น ดังนั้น โลกและจักรวาลที่เราเห็นจึงไม่ได้เป็นอย่างที่เราเห็น มันมีสภาพเป็นอนัตตา คือ มีการเกิด-ดับ เกิด-ดับ เกิด-ดับ ที่เกิด-ดับ ตลอดเวลา เหมือนภาพที่ค่อยๆ ชัดขึ้นๆ ชัดขึ้นๆ แล้วก็จะจางลงๆ จางลงๆ แล้วชัดขึ้นๆ ชัดขึ้นๆ แล้วจางๆ จางลงๆ เป็นอยู่อย่างนี้ ที่เราเห็นสสารและพลังงานงานทั้งหลายๆ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ มันก็คืออัตราถี่ของการเกิด-ดับที่ต่างกันนั่นเอง แรงทั้ง 4 ในจักรวาล คือ แรงโน้มถ่วง แรงแม่เหล็กไฟฟ้า แรงนิวเคลียร์อ่อน แรงนิวเคลียร์แข็ง อย่างที่ไอน์สไตน์พยายามรวมแรงทั้ง 4 เข้าไว้ด้วยกันไม่สำเร็จนั้น แท้จริง แรงทั้ง 4 นั้น ก็คือ สภาวะที่มีการเกิด-ดับที่ต่างกันนั่นเอง มีการเกิด-ดับในอัตราที่สูง สามารถเหนี่ยวนำวัตถุขนาดใหญ่ในระดับจักรวาลหรือแม้แต่แสงเอาไว้ได้ แต่ถ้าเรารู้ว่าเป็นเท่าไหร่ เราจะสร้างเครื่องมือเหาะหนีแรงโน้มถ่วงได้เลย จะเดินทางย่นระยะทางก็ได้นะ แบบยานอวกาศในหนังที่พุ่งปี๊ดผ่าประตูมิติเวลาไปไง หรือใช้โทรจิตต่อสู้อย่างในหนังก็ได้นะ-ก็ว่าไป
สรุป เราไม่ต้องใช้เส้นสตริง หรือใช้สแตนท์อินมาแสดงแทน เพื่อใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่ลึกลับของธรรมชาตินี่ เพียงเราค้นหาว่า โลก จักรวาล สสาร พลังงาน และแรงต่างๆ มีอัตราการเกิด-ดับเท่าไหร่ เราก็จะสร้างเครื่องมือเลียนแบบธรรมชาติได้ ก็ไม่รู้ว่าจะดีหรือเปล่านะ คนยิ่งชั่วๆ กันอยู่ด้วย
2. เวทนา คือ ระบบการรับรู้ถึงรูปนั้น ทางวิทยาศาสตร์ คือ เครื่องมือตรวจวัดหรือเซ็นเซอร์ ซึ่งถ้าไม่มีเครื่องตรวจวัด เราก็ไม่สามารถรู้จักรูปนั้นได้ รวมไปถึงตัวผู้สังเกตด้วย เพราะฉะนั้น ต้นไม้ล้มในป่า ไม่ใช่ว่า ไม่มีเสียง แต่การล้มของต้นไม้จะมีเสียงหรือไม่อย่างไรอยู่ที่ตัวรับรู้ที่มีสิ่งที่ใช้รับรู้ต่างกัน ซึ่งอาจแปลความหมายได้ต่างกันก็ได้ เช่น งูเลื้อยที่พื้นดินรับรู้เสียงจากกระดูกคางก็แปลเป็นคลื่นสั่นสะเทือน กวางมีหูรับรู้เป็นคลื่นเสียงในระดับที่ตนเองรับรู้ได้ ส่วน นีลส์ โบร์ ให้เหตุผลว่า ในป่าลึกไม่มีคนอยู่ ต้นไม้ล้มจึงไม่มีเสียง นั้นก็ถูก เพราะถ้าไม่ตัวรับรู้อยู่ที่นั่น การล้มของต้นไม้จะเป็นสภาวะอย่างหนึ่งที่เราจะบอกไม่ได้ว่าเป็นเสียงหรือเป็นอะไรกันแน่ แม้เอาคนที่หูหนวกสนิทไปยืนอยู่ในป่า แล้วให้ต้นไม้ล้ม เขาก็จะบอกว่า ต้นไม้ล้มไม่มีเสียงอะไรเลย เช่นกัน เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีตัวรับรู้ โลกและจักรวาลจะไม่ปรากฏอย่างที่เราเห็น แต่จะอยู่ในสภาวะเกิด-ดับของมันเอง มันเป็นอนัตตาเสียตั้งแต่ต้นด้วยซ้ำ มันเป็นความผิดของเราเองที่ดันเกิดมาเห็นโลกและจักรวาลเป็นเช่นนั้น
"เมื่อเราข้ามสะพาน"
"น้ำใต้สะพานไม่ไหล"
"สะพานต่างหากที่ไหล"
3. สัญญา คือ สิ่งที่สามารถจดจำการรับรู้รูปนั้นได้ (ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงจดจำรูป แต่หมายถึงเวทนาที่รับรูปนั้น เพราะเวทนาการรับรู้ อาจจะรับรู้รูปไม่ตรงตามความเป็นจริงก็ได้ อย่างที่เรารับรู้โลกและจักรวาลไม่ได้เป็นไปตามความจริง ตัวอย่างเช่น การเห็นสีของคนตาบอดสี ก็จะเห็นสีที่ผิดเพี้ยนไปจากความจริง หรือคนตาดีก็จะรับรู้สีในขอบเขตจำกัดของตามนุษย์ปกติเท่านั้น) ทางวิทยาศาสตร์ คือ การบันทึกข้อมูลการตรวจวัดสสารหรือพลังงานนั้นไว้ ถ้าไม่มีสัญญาก็เหมือนกับการถ่ายรูปแล้วไม่บันทึกภาพ
สัญญาในอีกความหมายหนึ่งก็คือ การบันทึกข้อมูลตัวเองเพื่อจะได้สามารถถ่ายทอดหรือผลิตซ้ำตัวเองอีกครั้ง เหมือนกับรหัสพันธุกรรมของพืช สัตว์หรือมนุษย์ ในคอมพิวเตอร์ก็มีรหัส 0 กับ 1 ในพวกสสารหรือพลังงานก็คือ อัตราการเกิด-ดับ ถ้าเรารู้ว่ามีค่าเท่าไหร่ เทคโนโลยีด้านการซ่อมแซมตัวเองของกลไกต่างๆ จะกลายเป็นจริงทันที
4. สังขาร คือ ระบบคิดปรุงแต่ง แยกแยะสิ่งที่จดจำไว้นั้น วิทยาศาสตร์ ก็คือ การวิเคราะห์วิจัยแยกแยะข้อมูลที่บันทึกไว้นั้น จัดเป็นระบบ เป็นประเภท หมวดหมู่ให้ชัดเจนเพื่อการเทียบเคียงกับผลกับการทดลองอื่นๆ
สังขารนี่แหล่ะจะเป็นสิ่งที่ทำให้ระบบการสร้างใหม่เกิดขึ้นจริง โดยอาศัยสัญญาคือข้อมูลที่บันทึกไว้ในรูปรหัสหรือพันธุกรรม สังขารเป็นตัวกระบวนการปรุงแต่งให้ก่อกำเนิด เหมือนเป็นตัวเร่งให้เมล็ดพันธุ์พืชเติบโต สังขารประกอบด้วย เหตุปัจจัยหลายตัว เช่น เมล็ดพืชจะงอกได้ก็ด้วยมีดิน มีน้ำ อากาศ ฯลฯ เป็นตัวสนับสนุนให้ต้นไม้งอกเงยขึ้น โลกและจักรวาลก็เกิดขึ้นจากกระบวนการของสังขาร ถ้าปรากฏการณ์ Big Bang เป็นเรื่องจริง สังขารก็คือกระบวนการก่อกำเนิดนั้น แต่จากทฤษฎีนี้ สังขารเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เกิด-ดับขึ้น จนกลายเป็นโลกจักรวาลดังที่เราเห็น เหตุปัจจัยในสังขาร เป็นสิ่งเดียวที่เราจะต้องรู้ให้ว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง นอกจากสังขารจะเป็นกระบวนการแห่งการสร้างสรรค์ ยังเป็นกระบวนแห่งการทำลาย คือ การทำให้ดับด้วยเช่นกัน
5. วิญญาณ คือ ระบบที่รู้สิ่งนั้นๆ ได้ วิทยาศาสตร์ คือ การสังเคราะห์ข้อมูลนำไปสู่ข้อสรุปความจริงหรือเป็นทฤษฎีว่า พลังงานหรือสสารนั้นๆ มีองค์ประกอบหรือมีสภาพที่แท้จริงอย่างไร และจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร
วิญญาณจะเป็นจุดสุดยอดของกระบวนการกำเนิดโลกและจักรวาลทั้งหมด มันคือสิ่งเดียวที่รู้เจตจำนงทั้งหมดแห่งการก่อกำเนิดนี้ วิญญาณสิงสถิตอยู่ทุกที่ สรรพสิ่งมีวิญญาณครองในระดับที่แตกต่างกันตามศักยภาพของสิ่งนั้น บางแห่งเรียกมันว่า “พระเจ้า” บางแห่งว่า “ผี”
แต่วิญญาณในพระพุทธศาสนามีสภาพเป็นนามธรรม ไม่มีตัวตนที่แท้จริง ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรูปร่าง ไม่มีน้ำหนัก ไม่กินพื้นที่ รับรู้อารมณ์และสิ่งเร้าได้ไกล เกิดดับอยู่ตลอดเวลา เป็นสิ่งสุดท้ายที่ก่อกำเนิดเพราะเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยทำให้เกิด วิญญาณก็ไม่เกิด เมื่อวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุปัจจัยใดๆ ก็เรียกชื่อไปตามนั้น เช่น วิญญาณเกิดเพราะอาศัยตาเห็นรูป ก็เรียก จักขุวิญญาณ เหมือนไฟเกิดขึ้นเพราะเชื้อไฟ เช่น ถ่านไม้หรือแก๊ส ดังนั้น วิญญาณจึงมีสภาพเกิดดับอย่างรวดเร็ว ไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย เพราะต้องทำงานผ่านประสาทสัมผัสที่เกิดขึ้นอย่างว่องไวเป็นช่วงๆ ตามวิถีการเกิด-ดับต่อเนื่องไม่ขาดสาย สืบสันตติอย่างนี้ไปเรื่อยๆ พระพุทธศาสนาปฏิเสธความเที่ยงแท้ของวิญญาณ แต่รับรองสันตติคือความต่อเนื่องของวิญญาณ
วิญญาณ เป็นสิ่งที่ทำให้ปรากฏการณ์เกิด-ดับของโลกและจักรวาลเป็นไปได้ เป็นสิ่งที่ทำให้สิ่งนั้นๆ ปรากฏแก่เรา และทำให้สิ่งต่างๆ มีความแตกต่างกัน ถ้าไม่มีวิญญาณแล้ว เราจะไม่มีแยกแยะว่าสิ่งต่างๆ ต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร หรือมีอยู่และไม่มีอยู่อย่างไร เมื่อขาดวิญญาณ จักรวาลและโลกจะมีสภาพเงียบงันอยู่อย่างนั้น เพราะไม่มีสิ่งใดไปล่วงรู้มัน “เมื่อต้นไม้ล้มในป่าลึก ไม่มีเสียง” เพราะที่ตรงนั้น ไม่มีวิญญาณไปรับรู้มันนั่นเอง


–โอ แม่เจ้า ข้าจะบ้า ที่จะพรรณนาถึงมันด้วยภาษามนุษย์–

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น